วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บัญญัติ 10 ประการของลูกค้าสมัยใหม่/Customer Trend (1/6)



บัญญัติ 10 ประการของลูกค้าสมัยใหม่/Customer Trend (1/6) 


อำนาจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกที  มีแนวโน้มว่าลูกค้าในอนาคตจะเรียกร้องต้องการมากว่าเมื่อก่อน  ความต้องการนั้นอาจแตกต่างไปตามประเภทสินค้าหรือกลุ่มลูกค้า, Life-cycle ของสินค้าหรือกลุ่มลูกค้า   ลูกค้าแต่ละคนยังมีความชอบส่วนตัวไม่เหมือนกันอีกด้วย  ถ้าอย่างนั้นคุณจะทำให้ลูกค้าทุกคนถูกใจได้อย่างไร ?  ต่อไปนี้ คือภาพรวมของความต้องการสากล ที่อาจเป็นแนวทางให้คุณเข้าถึงใจลูกค้าได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เกี่ยงยุคสมัย



ข้อ 1 ความน่าเชื่อถือ และไว้ใจได้


                ความสัมพันธ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความไว้ใจ   ผู้ซื้อและผู้ขายที่จะผูกพันกันได้ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน  สิ่งที่ลูกค้าใช้ตัดสินความน่าเชื่อถือ และความไว้ใจได้ของผู้ขายคือ :

·         เล่นอย่างยุติธรรม  สิ่งแรกที่ลูกค้าใช้ตัดสินความยุติธรรมในความสัมพันธ์นี้คือ ราคา  ลูกค้าจะรู้สึกว่าคุณเล่นอย่างยุติธรรมเมื่อราคาสินค้าสมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพและคุณค่า (value) ของสินค้า แต่ต้องไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับผู้ขายรายอื่นๆ ในตลาดระดับเดียวกัน

·         เปิดเผยและพร้อมรับผิดชอบ โดยแสดงที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ หรือหลักแหล่งที่ลูกค้าสามารถติดต่อคุณได้เมื่อสินค้ามีปัญหา เบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายบริการลูกค้า หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่เห็นเด่นชัดบนหีบห่อ หรือป้ายโฆษณา ช่วยให้ผู้ซื้ออุ่นใจว่าบริษัทคุณมีหลักฐานมั่นคง และพร้อมรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหากับสินค้าหรือบริการ

·         พูดกันอย่างเปิดอก คือการให้ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลสินค้าอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่หลอกหลวง หรือปิดบังข้อมูลที่อาจมีผลกระทบด้านลบต่อผู้ซื้อ คุณไม่จำเป็นต้องชำระสะสางบริษัทให้บริสุทธิ์ผุดผ่องไปหมด แต่ลูกค้าไม่ชอบถูกหลอก ดังนั้น คุณไม่ควรสร้างภาพผิดๆ เกี่ยวกับคุณภาพสินค้าหรือบริการ  ข่าวสารที่สื่อผ่านโฆษณาหรือการประชาสัมพันธ์ต้องเป็นจริง ชัดเจน และเข้าใจง่าย

·         เห็นแก่ประโยชน์ลูกค้า แสดงความจริงใจ ไม่เห็นแก่กำไรมากเกินไป แสดงความปรารถนาดีโดยเต็มใจให้ข้อมูล เมื่อคุณไม่มีสินค้าที่ลูกค้าต้องการควรบอกเขาไปว่าสามารถหาซื้อของดังกล่าวได้ที่ไหน  ขณะเดียวกันก็ต้องเห็นค่าในข้อมูลต่างๆ ของลูกค้า  คงไม่มีลูกค้าคนไหนชอบใจถ้ารู้ว่าข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ งานอดิเรก ฯลฯ ที่เขาให้คุณมาถูกเอามาต้มยำทำแกงขายต่อให้คนอื่นๆ อีกที

·         อย่าผลักดันมากเกินไป การเร่งร้อนขายมากเกินไปจะทำให้ลูกค้าบางคนรู้สึกว่าถูกเร่งให้ตัดสินใจ และอาจเกิดผลในทางลบ  คุณควรให้ลูกค้ามีเวลาตัดสินใจและมีทางเลือกตามแบบของตน

·         ให้ความปลอดภัย ในสมัยก่อนลูกค้าคาดหวังว่าจะปลอดภัยเมื่อใช้สินค้า หรือเข้ามาใช้บริการในร้านคุณ แต่ในยุคดิจิตอลนี้ ลูกค้าย่อมต้องการความปลอดภัยเมื่อมีการให้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตในการสั่งซื้อออนไลน์



ข้อ 2 เปี่ยมแรงบันดาลใจ


                แม้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนเองใช้เหตุผลในการซื้อสินค้า แต่ลึกๆ แล้วอารมณ์ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ แบรนด์ดังหลายยี่ห้อเน้นสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ (Emotional bond) กับลูกค้า  โดยใช้แรงบันดาลใจช่วยทำให้สินค้าบริการธรรมดาๆ มีความหมาย และเป็นกุญแจสำคัญเข้าถึงจิตใจผู้บริโภค  โดยวิธีต่อไปนี้

·         จับใจ  หลายคนยอมรับว่า ไม่รู้ว่าแรงบันดาลใจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผูกพันและประทับใจสินค้าหรือบริการยี่ห้อนั้น เมื่อสินค้าหรือบริการใดมีแนวคิดพื้นฐานหรืออุดมการณ์จริงจัง สินค้ายี่ห้อนั้นจะแตกต่างจากสินค้าทั่วไปและจับใจผู้ซื้อได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ผู้ผลิต หรือผู้ขายต้องเชื่อมั่นและแสดงออกอย่างแน่วแน่  นอกจากนี้ยังควรมุ่งจับใจคนทั้งครอบครัว เช่น วอลต์ดิสนีย์ที่ช่วยให้พ่อ แม่ ลูก แบ่งปันแรงบันดาลใจกันได้

·         จัดฉาก  Starbucks เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดในข้อนี้  การจัดร้านที่ดลใจให้ลิ้มลองรสกาแฟ และดึงดูดผู้คนเข้าสู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากสภาพแวดล้อมธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการประสบการณ์และแรงบันดาลใจในโลกของกาแฟ  ถ้าคุณติดใจและรู้สึกกระปรี้กระเปร่าทุกครั้งที่เข้าร้านไนกี้ นั่นก็เป็นเพราะร้านนี้ประสบความสำเร็จในการจัดฉากให้คุณได้ท่องไปในโลกกีฬา แสดงด้วยภาพที่ชัดเจนจับต้องได้ ไม่ใช่แค่คำพูด เช่นการการขายเฟอร์นิเจอร์ที่จัดเป็นห้องหับต่างๆ ให้เห็นเป็นตัวอย่าง

·         จูงใจ  สนับสนุน กระตุ้นให้เกิดผลในด้านบวก หรือพัฒนาตัวเอง เช่น นิตยสาร Self ที่มีโปรแกรมฟิตร่างกายแบบต่อเนื่องให้ติดตามอ่านได้ตลอดทั้งปี

·         มีหัวใจ  ร่วมรับผิดชอบสังคมโดยให้ลูกค้าได้มีส่วนในการทำความดีนี้ด้วย เช่น สนับสนุนองค์กรเอกชนโดยให้ลูกค้าของคุณมีส่วนในโครงการบริจาคเงินที่หักจากรายได้ในการขายสินค้า  บริจาคสินค้าให้ผู้ขาดแคลน หรือยกทีมพนักงานไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม



ข้อ 3 ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น


                สินค้าหรือบริการที่อำนวยความสะดวกสบายย่อมถูกอกถูกใจมากกว่า คุณทำให้ชีวิตลูกค้าง่ายขึ้นได้โดย :

·         ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น  โดยให้ข้อเสนอที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว คุณไม่ต้องส่งข้อเสนอมามากกว่าคู่แข่ง ขอแต่เป็นข้อเสนอที่ดีกว่าก็พอแล้ว  ถ้าจะให้ดีควรมีรายชื่อสินค้าแนะนำให้ด้วย เช่น 10 อันดับหนังสือขายดีในร้าน หรือ รายการสินค้าโปรโมชั่นพิเศษในช่วงนี้

·         ช่วยให้ซื้อได้ง่ายขึ้น  เช่น  มีบริการรับสั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ โทรสาร หรืออินเทอร์เน็ต จากนั้นจะมีบริการส่งสินค้า หรือนัดหมายให้ลูกค้าไปรับสินค้าจากศูนย์บริการในพื้นที่ก็แล้วแต่นโยบายของคุณ

·         รวดเร็วทันใจ  ของง่ายๆ ทำได้ในคลิกเดียว ย่อมดีกว่าต้องฝ่าฟันไปอีกหลายคลิก ดังนั้น ขั้นตอนการซื้อ หรือรับบริการ ที่ง่าย  ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ต้องรอคิวนานจึงถูกใจลูกค้าทุกคน แต่ถ้าต้องมีเหตุให้ลูกค้าต้องรอ คุณควรมีมาตรการอำนวยความสะดวก เช่น แทนที่จะให้ลูกค้าต้องรอคุณออกใบเสร็จ ควรออกใบเสร็จชั่วคราวให้ก่อน แล้วค่อยส่งใบจริงไปให้ หรือนัดให้ลูกค้าแวะมารับทีหลัง

·         ดูดีมีประโยชน์  เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับว่า สินค้าหรือบริการที่เสนอให้มีมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เสนอมาต้องมีประโยชน์และใช้ได้จริง  สิ่งที่เสนอมาใหม่ต้องไม่ทิ้งคุณสมบัติเดิมที่ลูกค้าชอบ ตัวอย่างมีให้เห็นในกรณี โค้กใหม่ โค้กรสชาติใหม่ล้มเหลว เพราะบริษัทโค้กลืมคิดไปว่าอาจมีลูกค้าที่ชอบรสชาติเก่ามากกว่า   ข้อสำคัญสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ควรให้ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับของรุ่นเก่าด้วย



ข้อ 4 ให้ลูกค้ามีอำนาจ


                ลูกค้าทุกวันนี้ต้องการควบคุมทุกสิ่งในชีวิตของเขา ในการซื้อสินค้าหรือบริการเขาก็ต้องการอำนาจควบคุมสิ่งที่เขาเสียเงินซื้อมาเช่นกัน  อำนาจที่ลูกค้าต้องการคือ :

·         ได้เลือกวิธีของตัวเอง  ลูกค้าแต่ละคนมีวิธีของตัวเองในการเลือกซื้อสินค้า บางคนเลือกสี  บางคนเลือกปริมาณ บางคนเลือกคุณภาพ และบางคนเลือกแบรนด์  ลูกค้าบางคนชอบเดินดูทั่วๆ แล้วจึงตัดสินใจซื้อ ลูกค้าบางคนชอบดูให้ทั่ว ถามให้กระจ่าง กลับไปนอนคิด แล้วจึงกลับมาซื้อทีหลัง  หน้าที่ของคุณคือปล่อยให้เขาเลือกตามวิธีของเขา ไม่บีบคั้นมากเกินไป และให้ข้อมูลเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า 

·         ได้ลงมือเอง  สินค้าหรือบริการบางอย่างจะบริการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ถ้าตัดขั้นตอนให้ลูกค้าบริการตัวเอง วิธีนี้ลูกค้าจะถูกใจที่ได้เลือกและลงมือเอง ดีกว่าต้องยืนแกร่วนานๆ รอพนักงานบริการให้

·         ควบคุมและเลือกรับข่าวสาร  เมื่อได้ที่อยู่ของลูกค้ามา อย่าด่วนใจเร็วรีบส่งแคตาล็อก หรือจดหมายชักชวนให้ซื้อสินค้า ควรให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกว่าจะรับข้อมูลข่าวสารจากคุณแค่ไหน อย่างไร บ่อยแค่ไหน กระบวนการนี้ทำได้ตั้งแต่แรกเมื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูล คุณควรคัดและเลือกส่งข่าวสารที่คิดว่าลูกค้าต้องการ เพราะการส่งจดหมายไปโดยไม่คัดเลือก จะกลายเป็นจดหมายขยะที่ลูกค้าโยนทิ้งโดยไม่เปิดอ่านเลย นานเข้าก็อาจสร้างความรำคาญจนเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อบริษัทคุณไปเลยก็ได้

·         ควบคุมข้อมูลส่วนตัว  ลูกค้าควรมีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และควรมีสิทธิเลือกได้ว่าจะยอม หรือไม่ยอมให้คุณจัดการข้อมูลส่วนตัวของเขาอย่างไร นอกจากนี้ลูกค้ายังมีสิทธิเลือกได้ด้วยว่าจะให้ข้อมูลแก่คุณหรือไม่ จะสมัครสมาชิกหรือไม่ หรือเพียงแต่แวะเข้ามาซื้อสินค้าแบบลูกค้าขาจร



ข้อ 5 แนะแนวกันหน่อย


                แม้ในความต้องการข้อ 4 ลูกค้าอยากมีอำนาจควบคุมมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าจะดำเนินการซื้อขายทั้งหมดได้ด้วยตัวคนเดียว บางครั้งเขาก็ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ขายด้วยโดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมากจนล้น และมีตัวเลือกมากมายจนเลือกไม่ถูกอย่างนี้ ผู้ขายที่ช่วยแนะแนวได้เมื่อลูกค้าตัดสินใจไม่ถูกย่อมดีกว่า  หลักการแนะแนวคือ

·         เพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้า  เมื่อต้องตัดสินใจซื้อสิ่งของ หรือบริการบางอย่าง ลูกค้าหลายคนขาดความมั่นใจ ตัดสินใจไม่ได้เพราะเกรงว่าจะตัดสินใจผิดพลาด การแนะแนวที่ดีควรให้ข้อมูลที่ชัดเจน และทำให้ลูกค้ามั่นใจมากขึ้น

·         รู้จักสินค้าของตน  คนขายที่ดีควรรู้จักสินค้าของตนอย่างกระจ่าง เชื่อมั่นในข้อดีของสินค้า และภูมิใจนำเสนอแก่ลูกค้า

·         รับฟังเอาใจใส่   การตั้งใจรับฟังความคิดเห็น และให้คำแนะนำชนิดตัวต่อตัวช่วยให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจและมั่นใจ

·         แนะแนวทางที่เหมาะสม  โดยให้ข้อมูลและความรู้ที่มีประโยชน์  สาธิตตัวอย่าง  ให้ทดลองสินค้า หรือแนะนำแหล่งข้อมูลที่เชี่ยวชาญ

·         ช่วยกรองข้อมูล  ข้อมูลของคุณอาจมีมากจนล้น ลูกค้าจะขอบคุณอย่างยิ่งถ้าคุณช่วยคัดเอาแต่ข้อมูลที่สำคัญ  ถ้ามีข้อมูลตัวเลขหรือสถิติต่างควรทำให้เข้าใจง่ายขึ้นโดยนำเสนอแผนภูมิ หรือแผนภาพที่วิเคราะห์หรือตีความแล้ว

·         เข้าถึงความต้องการ คุณควรแนะนำตัวเลือกที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้ ให้เขาไม่ตกยุค และยังมองต่อไปถึงอนาคต  คุณควรมีสำเนาเอกสารข้อมูลทั้งหมดให้ลูกค้านำกลับไปศึกษาต่อเองที่บ้านด้วย



ข้อ 6 “24 คูณ 7”


                ความต้องการของลูกค้าไม่มีวันสิ้นสุด  คุณควรสามารถบริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ตลอด 7 วัน ในหนึ่งสัปดาห์ โดยขจัดสิ่งกีดขวางเรื่องเวลาทิ้งไป ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เช่น ระบบโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต  ให้ลูกค้าสามารถติดต่อ ขอข้อมูล หรือสั่งซื้อสินค้าได้จากทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการ รวมทั้งมีบริการส่งสินค้าถึงที่ และลูกค้าสามารถตรวสอบสถานการณ์จองสินค้าของตนได้ด้วย



ข้อ 7 รู้จักลูกค้าของคุณ


                ลูกค้าทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ แสดงให้เขารู้ว่าคุณรู้จักเขาดีหลักการต่อไปนี้

·         ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างปัจเจกบุคคล   ให้เขารู้สึกว่ามีความสำคัญและคุณจดจำเขาได้

·         ศึกษาพฤติกรรมลูกค้าเป็นประจำเพื่อให้เข้าใจเขามากขึ้น

·         สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อของเขาโดยสรุป

·         ใช้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าให้เป็นประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เช่น การส่งข้อมูลกิจกรรมส่งเสริมการขายมาโดยระบุชื่อ ที่อยู่ถูกต้อง ขึ้นต้นจดหมายด้วยชื่อของลูกค้า และจัดส่งเฉพาะข้อมูลที่ลูกค้าสนใจ

·         ดูแลให้ไม่มีความสัมพันธ์ซ้ำซ้อน จริงอยู่ที่บริษัทคุณอาจมีสินค้าหลายประเภท หลายสายผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อลูกค้าคิดว่าคุณคือแบรนด์หนึ่งแบรนด์ เขาย่อมคาดหวังให้คุณคิดว่าเขาเป็นลูกค้าคนหนึ่งที่ซื้อสินค้าไปหลายชิ้น ดังนั้น จึงต้องระวังอย่าให้มีการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน จะทำให้เกิดความผิดพลาด เช่น ลูกค้าคนเดียวกันได้รับจดหมายหรือแคตาล็อกชุดเดียวกัน 20 ฉบับ

 


ข้อ 8  Surprise !


                เซอร์ไพรส์คืออาการดีอกดีใจ ประหลาดใจ เพราะได้สิ่งดีดีเกินกว่าที่คาดหวังไว้ ทำให้ลูกค้าของคุณเซอร์ไพรส์ แล้วเขาจะอุดหนุนคุณไปตลอดชีวิต  สิ่งเกินคาดหวังเกิดขึ้นได้จากกรณีต่อไปนี้

·         ชดเชยอย่างคุ้มค่า  ถ้าสินค้าหรือบริการของคุณมีข้อด้อย หรือจุดอ่อนกว่าคู่แข่ง หาข้อชดเชยที่ดีเยี่ยมกว่าระดับทั่วไป เช่น  ถ้าโรงแรมคุณอยู่ไกล ไปมาไม่สะดวก คุณต้องชดเชยด้วยบริการดีกว่าระดับมาตรฐาน และใช้ของดีมีคุณภาพจนลูกค้าชื่นชม

·         ทำเกินหน้าที่  สิ่งเล็กๆ น้อยแต่สร้างความประทับใจได้คือการบริการอย่างจริงใจ ไมใช่แค่ทำไปตามหน้าที่ เช่น ตอบอีเมล์ลูกค้าภายในหนึ่งชั่วโมง พร้อมให้รายละเอียดตามที่ขอไป ไม่ใช่แค่ตอบกลับมาตามแบบฟอร์มของบริษัท

·         ให้มากเกินความคาดหวัง เช่น แทนที่จะส่งแต่การ์ดอวยพรวันเกิด อาจเป็นบัตรรับประทานอาหาร หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ไปให้

·         รู้จักรับผิดและแก้ไขข้อผิดพลาด  การยอมรับผิดจะบรรเทาความโกรธของลูกค้า แต่การรีบแก้ไขข้อผิดพลาดทันทีจะทำให้ลูกค้าประทับใจ



ข้อ 9 ให้รางวัลลูกค้าดีเด่น


                การเป็นลูกค้าผู้ภักดีควรได้รับรางวัล คุณให้รางวัลลูกค้าได้หลายแบบ เช่น :

·         จัดโปรแกรมสมนาคุณลูกค้าตามปริมาณการซื้อ

·         ให้สิทธิพิเศษแก่สมาชิก และเพิ่ม Added value แก่สินค้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์

·         แสดงให้ลูกค้าเห็นว่า คุณรู้ว่าเขาภักดีแค่ไหนโดยการเลื่อนระดับให้เป็นระยะๆ

·         ถ้าร้านของคุณ หรือสินค้าของคุณวางจำหน่ายทั่วไป ควรดูให้แน่ใจว่าลูกค้าสามารถรับรางวัลที่ไหน สาขาใดก็ได้

·         รางวัลที่ให้ลูกค้าควรดูมีคุณค่าสมกับความเป็นลูกค้าที่ดีมานาน



ข้อ 10 คอยอยู่เคียงข้าง


                ความสัมพันธ์ควรยืนยาวผ่านกาลเวลา คุณจะรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ได้ถ้ายึดหลักการต่อไปนี้

·         ให้ความมั่นใจ  เป็นกำลังใจและช่วยให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าก่อนตัดสินใจซื้อ ทันทีที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อต้องรีบให้เครดิตหรือรางวัลทันที

·         รักษาคำพูด  ไม่ว่าจะรับประกันคุณภาพ หรือรับประกันแลก เปลี่ยน หรือคืนสินค้าได้ ต้องจัดการให้ได้ตามคำสัญญา

·         แสดงจุดยืนแน่ชัด โดยให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการยกเลิกสั่งซื้อ การสั่งจ่ายเงิน และกระบวนการสั่งซื้อสินค้า ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์จบสิ้นลง

·         พร้อมให้ข้อมูลข่าวสาร รับคำร้องเรียน และคอยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าตลอดเวลา ต้องนำคำร้องเรียน และข้อมูลที่ลูกค้าส่งมา เป็นพื้นฐานในการปรับปรุงสินค้าและบริการ เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่า ข้อมูล หรือคำร้องเรียนของเขามีความสำคัญและได้รับความสนใจ

 


                ลูกค้ามีความสำคัญเพราะมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายธุรกิจของคุณ  อย่ามองพวกเขาเป็นแค่แหล่งรายได้ที่ต้องไล่ล่ามาเป็นเจ้าของ  จงรับฟังความต้องการของเขาและปฏิบัติต่อเขาเหมือนเพื่อน  คู่คิด  และคู่ค้าที่ต้องเกื้อหนุนและก้าวเดินไปด้วยกัน

อ้างอิง
http://www.marketeer.co.th/inside_detail.php?inside_id=1798

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น